http://www.thaimarfan.org
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

ข่าวสาร

 บทความ

 เว็บบอร์ด

Download

โรงพยาบาลที่ชำนาญในกลุ่มอาการมาร์แฟน

รู้จักกลุ่มอาการมาร์แฟน

การแสดงของอาการ

การวินิจฉัยกลุ่มอาการมาร์แฟน

การรักษา

การอยู่กับมาร์แฟน

เมื่อผู้หญิงที่ประสบภาวะมาร์แฟนตั้งครรภ์

จะมีชีวิตอยู่ได้นานเพียงใด

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายในผู้ประสบภาวะมาร์แฟน

การออกกำลังกายในผู้ประสบภาวะมาร์แฟน

การออกกำลังกายไม่ใช่ข้อห้ามสำหรับผู้ที่ประสบภาวะมาร์แฟน กลับยังเป็นประโยชน์ในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ช่วยสร้างความแข็งแกร่งของร่างกาย ช่วยให้ความดันโลหิตไม่สูงเกินกว่าการทำงานของหัวใจ ลดน้ำหนัก ปรับสมดุลทางเคมีชีวภาพของร่างกายให้ดำเนินไปอย่างปกติ เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก

การออกกำลังกายแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะมาร์แฟน

การออกกำลังกายที่รุนแรงเกินกว่าสภาพที่ร่างกายจะทนทานได้จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้ เช่น เลนส์ตาหลุด ข้อหลุด หัวใจเต้นเร็วมาก เกิดการโป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่มากจนเกิดการเซาะของเลือดในผนังหลอดเลือด ในขณะเดียวกันถ้าไม่ออกกำลังกายเลย น้ำหนักตัวที่มากขึ้น จะทำให้ข้อต่างๆ รับน้ำหนักไม่ไหว เกิดข้อเสื่อมก่อนวัยอันควร ผนังหน้าท้องหย่อนและแตกเป็นลาย ไส้เลื่อน เยื่อหุ้มปอดรั่วฉับพลัน และเมื่อร่างกายเข้าสู่วัยกลางคนจะเกิดความดันโลหิตสูงเหมือนคนทั่วไป ถ้ามีลิ้นหัวใจรั่วอยู่แล้วจะทำให้หัวใจบีบตัวต่อความดันที่สูงขึ้นไม่ไหว เกิดหัวใจล้มเหลวได้ง่าย การออกกำลังที่เหมาะสมคือ ใช้กำลังน้อย งดกีฬาแข่งขันและปะทะ ตัวอย่างกีฬาที่เหมาะสม ได้แก่ กอล์ฟ โบว์ลิ่ง ยิงปืน เดินเล่น เป็นต้น กีฬาที่ใช้กำลังมากขึ้น สามารถเล่นได้ แต่ควรเลือกชนิดกีฬาที่สามารถหยุดได้เมื่อเริ่มรู้สึกเหนื่อย เช่น ปั่นจักรยาน เดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง โยนลูกบาสเก็ตบอลลงห่วงโดยไม่ได้แข่งขัน ตีแบดมินตันหรือเทนนิสเบาๆ ยกน้ำหนักเบาประมาณ 1-3 ปอนด์ เต้นแอโรบิกเบาๆ เป็นต้น ทั้งนี้หลังได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะกลุ่มอาการมาร์แฟนแล้ว ควรรับคำปรึกษาจากแพทย์เสมอถึงกีฬาที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายที่เป็นอยู่

การแบ่งชนิดของกิจกรรมกีฬาโดย  American Academy of Pediatrics

กีฬาปะทะรุนแรง และใช้ศักยภาพของร่างกายมาก

บาสเก็ตบอล ชกมวย

ฮอกกี้ ฮอกกี้น้ำแข็ง ฟุตบอล มวยปล้ำ

จักรยานยนต์วิบาก สกีน้ำ

กีฬาปะทะ ใช้กำลังมาก

เบสบอล จักรยานแข่งขัน ยิมนาสติก ขี่ม้า สเก็ด สกี ซอฟท์บอล สควอช วอลเล่ย์บอล

กีฬาที่ไม่ปะทะ ใช้กำลังมาก

เต้นแอโรบิก วิ่งแข่ง

ยกน้ำหนัก

กีฬาที่ไม่ปะทะ ใช้กำลังปานกลาง++

เต้นแอโรบิกเบาๆ แบดมินตัน ปั่นจักรยาน เทนนิส จ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ ปิงปอง

กีฬาที่ไม่ปะทะ ใช้กำลังน้อย+

กอล์ฟ โบว์ลิ่ง ยิงปืน ยิงธนู เดิน

+ เหมาะสมในมาร์แฟน
++ สามารถเล่นได้ในมาร์แฟน แต่อย่าหักโหม

ถ้ารับประทานยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์หรือยาป้องกันลิ่มเลือดอยู่ด้วย จะเล่นกีฬาได้หรือไม่?

  • เบต้าบล็อกเกอร์ช่วยให้ชีพจรเต้นช้า ลดการทำงานหนักของหัวใจ ช่วงเล่นกีฬา จะมีความรู้สึกว่าร่างกายปรับสภาพตามไม่ทันเนื่องจากหัวใจเต้นไม่เร็วตามกิจกรรมที่ทำ ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมกับการเล่นกีฬาที่ใช้กำลังมากๆ ในขณะเดียวกัน กลับช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทนทานของร่างกายพร้อมกับป้องกันหัวใจทำงานหนักไปในตัวขณะออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามให้พึงระวังอย่าให้ชีพจรเต้นเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที ถ้าเหนื่อยให้หยุดพักทันที
  • ในผู้ที่ผ่าตัดลิ้นหัวใจมาแล้ว จะต้องรับประทานยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่ลิ้นหัวใจเทียม การแข็งตัวของเลือดในร่างกายจะนานกว่าคนปกติ ดังนั้นต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้เลือดออกง่าย เช่น ต้องมีการล้มหรือปะทะเป็นต้น

ออกกำลังกายอย่างไรให้ปลอดภัย สนุก และร่างกายแข็งแรง?

  • รับคำปรึกษาจากแพทย์ ประเมินสภาพร่างกาย เลือกกีฬาที่ชอบและเหมาะสม
  • ออกกำลังกายครั้งละ 20‐30 นาที 3‐4 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ้ามีเวลาจำกัด การออกกำลังครั้งละ 10 นาที 3 ครั้ง ก็มีผลใกล้เคียงกับการออกกำลัง 30 นาทีต่อครั้งเช่นกัน
  • เลือกสถานที่ออกกำลังกายที่อากาศบริสุทธิ์และถ่ายเทได้ดี
  • ถ้ารับประทานยาเบต้าบล็อกเกอร์อยู่ ต้องระวังอย่าให้ชีพจรเต้นเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที ถ้าไม่ได้รับประทานยาควรควบคุมอยู่ในระดับ 110 ครั้งต่อนาที
  • อย่าแบกสัมภาระไปเล่นกีฬาหนักมาก จะทำให้กระดูกสันหลังคดงอได้
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ความดันในปอดเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เช่น ดำน้ำ หรือขึ้นเครื่องบินที่ปรับความดันบรรยากาศภายในห้องโดยสารไม่ดี จะทำให้เยื่อหุ้มปอดรั่วได้ง่าย
  • อย่าทดสอบระดับกำลังความสามารถของตนเอง เช่น แข่งกีฬาในชั่วโมงพลศึกษา ทดสอบสมรรถภาพในโรงเรียนหรือที่ทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องบอกแก่บุตรหลานที่เป็นมาร์แฟน และครูที่โรงเรียนให้เข้าใจ
view

 หน้าแรก

ข่าวสาร

 บทความ

 เว็บบอร์ด

Download

view