http://www.thaimarfan.org
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

ข่าวสาร

 บทความ

 เว็บบอร์ด

Download

โรงพยาบาลที่ชำนาญในกลุ่มอาการมาร์แฟน

รู้จักกลุ่มอาการมาร์แฟน

การแสดงของอาการ

การวินิจฉัยกลุ่มอาการมาร์แฟน

การรักษา

การอยู่กับมาร์แฟน

เมื่อผู้หญิงที่ประสบภาวะมาร์แฟนตั้งครรภ์

จะมีชีวิตอยู่ได้นานเพียงใด

การออกกำลังกาย

การรักษาระบบหัวใจและหลอดเลือด

การรักษาระบบหัวใจและหลอดเลือด

ภาวะแทรกซ้อนจากระบบหัวใจและหลอดเลือดเป็นสิ่งที่อันตรายและน่ากลัวที่สุดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นดังนั้นการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยให้รักษาสุขภาพของหัวใจให้อยู่ได้คงทนไปตลอดชีวิต ดังที่ได้กล่าวมาแล้วตอนต้นว่าหลอดเลือดแดงใหญ่ของผู้ที่ประสบภาวะมาร์แฟนนั้นสามารถโป่งพองออกได้ง่าย จนทำให้เกิดลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว หรือ เลือดเซาะในผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ตามมา และสามารถตรวจพบลิ้นหัวใจไมตรัลยืดยาวออกจนเกิดลิ้นหัวใจรั่วได้เช่นกัน การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจประจำปี เพื่อตรวจสภาพการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเริ่มตรวจพบหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองออกมาใหญ่กว่าค่ามาตรฐานหรือลิ้นหัวใจไมตรัลเริ่มรั่ว แพทย์จะเริ่มให้รับประทานยากลุ่มเบต้าบล็อคเกอร์ (Beta-blocker) เพื่อช่วยลดการทำงานของหัวใจไม่ให้หนักเกินไป ซึ่งจะชลอการโป่งพองของหลอดเลือดหัวใจได้ การรับประทานยากลุ่มนี้จำเป็นต้องมารับการตรวจเป็นช่วงๆ เพื่อให้แพทย์ปรับระดับยาให้เหมาะสมตามสภาวะชีพจรและความดันโลหิต และจะต้องรับประทานไปตลอดชีวิต ซึ่งการรับประทานยาวันละ 1-3 ครั้ง ไม่ลำบากเลยเมื่อเทียบกับภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดตามมาในภายหลัง ทั้งนี้ต้องมารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อไรก็ตามที่เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วทั้งเอออร์ติกและไมตรัลขึ้นแล้ว ก็อาจต้องรับประทานยากลุ่มยาต้านเอซีอี (ACE inhibitor) เพื่อช่วยให้การสูบฉีดโลหิตเป็นไปได้สะดวกขึ้น แต่ถ้าลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วมาก จนสภาพการทำงานของหัวใจแย่ลง ก็ต้องมีการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเพื่อช่วยเพิ่มสมรรถภาพการทำงานของหัวใจให้ดีขึ้น ในรายที่ลิ้นหัวใจเออร์ติคยังเสียไม่มาก และการตรวจติดตามขนาดของหลอดเลือดแดงใหญ่แล้วว่ามีขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอยู่ในช่วงวิกฤตคือขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 เซนติเมตร ซึ่งสามารถเกิดภาวะเลือดเซาะในผนังหลอดเลือดได้ง่าย แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดใส่กราฟท์เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดแดงใหญ่ (Elective composite graft repair surgery) โดยการผ่าตัดใส่กราฟท์นี้จำเป็นต้องเปลี่ยนส่วนของลิ้นหัวใจไปด้วยในการผ่าตัดครั้งเดียวกัน ซึ่งการผ่าตัดในขณะที่ลิ้นหัวใจยังไม่แย่มาก สามารถผ่าตัดสำเร็จและปลอดภัยถึง 98-99% ใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 5-10 วันถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน และใช้เวลาพักฟื้นที่บ้านต่อตั้งแต่ 3 สัปดาห์ - 3 เดือน ขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล

หลังการผ่าตัดใส่กราฟท์และเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมนี้ จะต้องรับประทานยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือดต่อไปตลอดชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้ก้อนเลือดมาอุดตันการทำงานของลิ้นหัวใจเทียม ซึ่งจะต้องถนอมรักษาไว้กับตนเองตลอดไป แพทย์จะปรับขนาดยาโดยนัดมาเจาะเลือดดูความสามารถในการแข็งตัวของเลือดเป็นระยะ

ในขณะเดียวกัน ถ้าปล่อยให้หลอดเลือดแดงใหญ่หัวใจโป่งพองต่อไป ก็จะเกิดภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดที่โป่งออก ซึ่งจะมีอาการเจ็บหน้าอก ความดันโลหิตสูง และไอเป็นเลือดได้ ในช่วงนี้ก็จะผ่าตัดได้ยากขึ้น และถ้าเลือดเซาะมากจนหลอดเลือดแดงแตกก็จะทำให้เสียชีวิตได้ ภาวะนี้เกิดขึ้นรวดเร็วและเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาในทันที

เมื่อเกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วขึ้นหรือรับการผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียมแล้ว ต้องคำนึงไว้ตลอดเวลาว่าถ้ามีเชื้อโรคเข้าไปในกระแสเลือด อาจไปเกิดเป็นแหล่งเพาะเชื้อเยื่อบุหัวใจอักเสบตามลิ้นหัวใจเหล่านี้ได้ ดังนั้นถ้าต้องรับการทำฟันหรือทำหัตถการ เช่น การส่องกล้องเข้าไปตรวจอวัยวะในร่างกาย ต้องรับประทานยาแก้อักเสบก่อนทำหัตถการทุกครั้ง ซึ่งจะต้องแจ้งกับแพทย์ผู้ดูแลเสมอ

การออกกำลังกายเพื่อถนอมรักษาหัวใจเป็นสิ่งสำคัญในผู้ประสบภาวะมาร์แฟน

view

 หน้าแรก

ข่าวสาร

 บทความ

 เว็บบอร์ด

Download

view